หากเอ่ยถึงธุรกิจ “Non-Bank” หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ECL ประกอบธุรกิจปล่อยเงินกู้สำหรับคนซื้อรถยนต์มือสองเท่านั้น รถเก๋ง รถบิ๊กไบค์ รถบรรทุก เป็นต้น มานานกว่า 40 ปี !!

ทว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำธุรกิจชะลอตัวในช่วงแรกก่อนจะตั้งหลักได้ สะท้อนผ่านผลประกอบการฟื้นตัวขึ้นจากปี 2563 เทียบปี 2564 กำไรสุทธิ 61.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 194.01 ล้านบาท หลังแนวโน้มลูกค้าเริ่มกลับมาปกติจ่ายเงินปกติแล้ว สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปลายปีนี้คาดว่าจะเหลือ 4% จากปีก่อน 5-6%

“ดนุชา วีระพงษ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ECLให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ปี 2565 บริษัทมีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการขยายฐานช่องทางธุรกิจใน 3 ธุรกิจใหม่คือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (Car for Cash) สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV)และธุรกิจนายหน้าประกันภัย (Broker)

โดยบริษัทตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปี 2565 อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท หรือเติบโต 30% จากปีก่อนกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทย ไม่ได้ใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 ด้วยการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) แล้ว ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัว ทำให้การเก็บเงินของบริษัททำได้ดีขึ้น และความต้องการสินเชื่อเติบโตขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงมั่นใจว่ายอดปล่อยสินเชื่อปีนี้จะมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน

เขา แจกแจงแนวโน้มธุรกิจใหม่ว่า สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มองว่าตลาดรถยนต์อีวีกำลังขยายตัว ยิ่งเฉพาะปัจจุบันราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้กระตุ้นความสนใจรถยนต์อีวีมากขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ตลาดกำลังรอมาตรการจูงใจของภาครัฐที่จะออกมาสนับสนุนตลาดรถอีวีให้ขยายตัว ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังคุยกันพันธมิตร (ผู้ประกอบการ) ที่จะปล่อยสินเชื่อรถยนต์อีวี (รถใหม่) ให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า , รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และอื่นๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อที่จะให้รอบรับกับความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ธุรกิจผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (Car for Cash) มองตลาดดังกล่าวมีอัตราการเติบโตสูง ประกอบกับบริษัทมีฐานลูกค้าจำนวนมาก ดังนั้นเชื่อว่าธุรกิจจำนำทะเบียนรถจะขยายตัวได้อีกมาก และธุรกิจผลิตภัณฑ์นายหน้าประกันภัย (Broker)สะท้อนผ่านล่าสุดบริษัทย่อยคือ บริษัท ไมตี้ โบรกเกอร์ จำกัด ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การร่วมมือกับ บริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด ที่มีจำนวนรถบรรทุกมากกว่า 3,000-4,000 คัน

หุ้น ECL ปั้น 3 ธุรกิจใหม่ ผลักดันปี 65 รายได้เติบโต

และมีคลังสินค้าในการดูแลจำนวนมาก เพื่อต่อยอดในธุรกิจนายหน้าประกันภัยและเพิ่มศักยภาพในการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลาย ให้เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าผู้เอาประกัน

อย่างไรก็ตาม การร่วมมือในครั้งนี้บริษัทวางเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมราว 30-40 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอันดีจากบริษัทประกันภัยชั้นนำของประเทศที่ร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าและบุญรอด ซัพพลายเชน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยในหลายด้าน เช่น ด้านนวัตกรรม ด้านโลจิสติกส์(Logistic)เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อทั้ง 3 บริษัทมาร่วมมือกัน คาดว่าจะสามารถสร้างความแข็งแกร่ง และการเติบโตในธุรกิจนายหน้าประกันภัย และยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีความต้องการที่หลากหลาย ทั้งด้านประกันชีวิต และประกันวินาศภัยได้อย่างเหมาะสม ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ รถเพื่อการขนส่ง Logistic, บริษัท หรือโรงงาน และลูกค้าที่มีความห่วงใยในสุขภาพของตัวเองมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับ กลุ่มลูกค้าเน้นภาคตะวันออก-กรุงเทพฯ ดังนั้น จึงไม่ได้มีสาขาทั่วประเทศไทย ซึ่งเน้นครอบคลุมแค่ กรุงเทพฯ พัทยา ชลบุรี ศรีราชา ระยอง จันทบุรี บนความเชื่อที่ว่าภาคตะวันออกเป็นภาคที่มี GDP สูงสุด คนมีเงินเดือน มีรายได้ดีที่สุด รถส่วนใหญ่ที่ดีก็อยู่กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกมากที่สุด

ท้ายสุด “ดนุชา” บอกไว้ว่า ในปีนี้บริษัทเตรียมลุยโปรเจกต์ใหม่ๆ อีกมากมาย และยังได้มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่อีกหลายรายที่กำลังคุยอยู่ด้วย

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business/